ค้นหา

 

มารยาทไทย

วันพฤหัสบดีที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2558


มารยาทไทย คือ กิริยา วาจาการพูดต่างๆ เช่น ยืน เดิน นั่ง การนอน การรับของส่งของ การทำความเคารพ การแสดงกิริยาอาการ การรับประทานอาหาร การให้และรับบริการ การทักทาย การสนทนา การใช้คำพูด การฟัง การใช้เครื่องมือสื่อสาร รวมทั้งการประพฤติปฏิบัติในพิธีการต่างๆที่สุภาพเรียบร้อยที่บุคคลพึงปฏิบัติในสังคมโดยมีระเบียบแบบแผนอันเหมาะสมตามกาลเทศะ และถือเป็นเอกลักษณ์สำคัญของคนไทย

การแสดงความเคารพ

การประนมมือ (อัญชลีกรรม) คือ การประนมมือทั้งสองประนมให้ฝ่ามือทั้งสองประกบกันนิ้วทุกนิ้วแนบชิดติดกันไม่เหลื่อมล้ำกันหรือกางออกห่าง กระพุ่มมือที่ประนมนี้ไว้ระหว่างอกให้ตั้งตรงขึ้นข้างบนมีลักษณะคล้ายดอกบัวตูม แนบศอกทั้งสองข้างไว้ชิดกับชายโครง ไม่ปล่อยให้กางออกไปรักษาระดับกระพุ่มมือไว้ระหว่างอก เป็นการแสดงความเคารพเวลาสวดมนต์ หรือฟังสวดมนต์และฟังเทศน์

การไหว้ (นมัสการ) คือ การยกมือที่ประนมขึ้นจรดหน้าผาก นิ้วหัวแม่มือทั้งสองอยู่ระหว่างคิ้วพร้อมกับก้มศีรษะลงเล็กน้อย จะใช้แสดงความเคารพพระภิกษุสามเณร หรือปูชนียวัตถุปูชนียสถาน ในขณะที่ผู้ไหว้นั่งบนเก้าอี้หรือยืนอยู่ การไหว้บุคคลผู้อาวุโสกว่าให้ปล่อยมือจรดจมูกหรือคิ้ว การไหว้ผู้เสมอกันให้ประนมมือไหว้ระดับอก

การกราบ (อภิวาท) คือ การแสดงอาการกราบราบลงกับพื้นด้วยเบญจางคประดิษฐ์ คือด้วยองค์ประกอบทั้งห้าอย่าง ได้แก่ เข่าทั้งสอง ฝ่ามือทั้งสอง และศีรษะอันได้แก่ หน้าผากให้จรดกับพื้นเป็นอาการแสดงความเคารพอย่างสูงต่อ พระรัตนตรัย มีขั้นตอนการปฏิบัติ ดังนี้
               ท่าเตรียมตัว นั่งคุกเข่า (ชายตามแบบชาย หญิงตามแบบหญิง) มือทั้งสองทอดวางเหนือเข่าทั้งสองให้นิ้วมือทั้งห้าแนบชิดกัน
                   -  จังหวะที่หนึ่ง ยกมือขึ้นประนมไว้ระหว่างอก ตามแบบการประนม
                   -  จังหวะที่สอง ยกมือที่ประนมขึ้นจรดหน้าผาก โดยให้นิ้วหัวแม่มือทั้งสองอยู่ระหว่างคิ้วตามแบบการไหว้ พระรัตนตรัย
                   -  จังหวัะที่สาม ก้มตัวลง ปล่อยมือทั้งสองให้ทอดลงกับพื้นโดยแบมือทั้งสองให้ข้อศอกต่อกับเข่าทั้งสอง ข้าง (สำหรับชาย) และให้ศอกทั้งสองข้างขนาบเข่าทั้งสองไว้(สำหรับหญิง) ให้ระยะมือทั้งสองห่างกันประมาณ ห้านิ้ว ก้มศีรษะให้หน้าผากจรดพื้นในระหว่างมือทั้งสองแล้วยกมือประนมขึ้นผ่านจังหวะ ที่หนึ่สอง และสามไปตามลำดับให้ต่อเนื่องกันทำติดต่อกันไปจนครบสามครั้ง
               เมื่อครบสามครั้งแล้วพึงยกมือขึ้นไหว้ตามแบบพระรัตนตรัย แล้วเปลี่ยนอริยาบทเป็นนั่งพับเพียบหรือลุกขึ้นตามกาลเทศะ
             การกราบบุคคล และกราบศพ เป็นการกราบด้วยวิธีกระพุ่มมือ และกราบเพียงครั้งเดียวไม่แบมือ ดังนี้
               1)  หากบุคคลหรือศพอาวุโสกว่าให้ประนมมือไหว้ ให้ปลายนิ้วจรดจมูก หรือจรดหว่างคิ้วก็ได้ถ้าคนเสมอกันประนมมือเพียงระหว่างอก
               2)  นั่งพับเพียบเก็บเท้า ตามแบบนั่งพับเพียบ
               3)  หมอบลงตามแบบหมอบ
               4)  มือทั้งสองกระพุ่มทอดลงกับพื้นไม่แบมือ
               5)  ก้มศีรษะลงจรดสันมือ กราบเพียงครั้งเดียว
               6)  เสร็จแล้วลุกขึ้นนั่งพับเพียบตามปกติ


ศพพระสงฆ์จะกราบด้วยเบญจางคประดิษฐ์สามครั้งก็ได้ สำหรับนาคกราบลาบวช หรือจะกราบบิดามารดาตอนรับผ้าไตรใช้แบบเบญจางคประดิษฐ์ 3 ครั้ง

0 comments:

แสดงความคิดเห็น